ประเด็นร้อน
โกง 'คนพิการ' 1,500 ล้าน โร่ร้องดีเอสไอ
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 20,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -
พันแรงงาน-พม.สวมชื่อกินหัวคิวบิ๊กอู๋จี้สอบ 15 วัน
ตัวแทนเครือข่ายคนพิการ บุกร้องดีเอสไอตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐโกงเงินคนพิการ ความเสียหาย 1,500 ล้านบาท ขอดีเอสไอรับสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษ และขอความคุ้มครองคนที่ออกมาเปิดโปงด้วย ด้าน “บิ๊กป้อม” โยน พม.จัดการ ยันนายกฯสั่งถ้าใครเกี่ยวข้องถึงไล่ออก “บิ๊กอู๋” เด้งรับ สั่งปลัด พม.ตั้งกรรมการสอบสวนให้กระจ่างภายใน 15 วัน
กลุ่มคนพิการบุกร้องดีเอสไอรับคดีโกงเงินคนพิการเปิดเผยขึ้นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ย. นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ พร้อมผู้พิการประมาณ 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินสนับสนุนคนพิการทั่วประเทศหลายพันล้านบาทและขอให้รับเป็นคดีพิเศษพร้อมพิจารณาให้ความคุ้มครองคนพิการที่ออกมาเปิดโปง โดยมีนายบัณฑิต สังขนันท์ ผอ.ส่วนพิจารณาสำนวนร้องทุกข์ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง
นายปรีดาเผยว่า การเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนกับดีเอสไอ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทางเครือข่ายฯจึงเห็นว่าดีเอสไอเป็นที่พึ่งในการเข้ามาช่วยตรวจสอบ และสามารถผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษได้ เพราะมูลค่าความเสียหายมหาศาลประมาณ 1,500 ล้านบาท เช่น สิทธิตามมาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการ แต่ตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับผู้พิการจริง และมาตรา 35 ที่ต้องให้สถานประกอบการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีไม่จ้างงาน แต่จัดโครงการฝึกอบรมผู้พิการและเรียกรับค่าหัวคิวเพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่านฝึกอบรม ต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบข้าราชการที่มีพฤติกรรมทุจริตเงินคนพิการ
“เครือข่ายฯมองว่าการที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแถลงข่าวตอบโต้อย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่า ลงตรวจสอบพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ แล้วไม่พบการทุจริตเกี่ยวกับคนพิการ มันขัดแย้งกับหลักฐานที่เครือข่ายฯรวบรวมได้ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ฉะนั้น การออกมาเดินหน้าร้องเรียนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหลายๆแห่งต้องการให้สังคมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตเงินสนับสนุนคนพิการโครงการต่างๆทั่วประเทศจริง และผู้มีอำนาจควรจะตรวจสอบเพื่อตัดวงจรอุบาทว์นี้เสียที และขอให้ดีเอสไอช่วยพิจารณาเรื่องของการคุ้มครองกลุ่มคนพิการที่ออกมาร่วมเปิดโปงขบวนการทุจริตมิชอบด้วย” นายปรีดากล่าว
เบื้องต้นนายบัณฑิตรับเรื่องไว้ตรวจสอบก่อนพิจารณาตามข้อมูลหลักฐานว่าเข้าข่ายคดีพิเศษหรือไม่ ก่อนเสนอให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีโกงเงินคนพิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย หากพบความผิดต้องดำเนินการ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ใครทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินทองให้ออกจากตำแหน่งทันที เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) สั่งการชัดเจนในที่ประชุม ครม.
ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน แถลงว่า กระทรวงแรงงานให้นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กระจ่างภายใน 15 วัน มีนายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ทั้งนี้ ตามมาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานสัดส่วน 1 ต่อ 100 คน ซึ่งมีอยู่กว่า 6.4 หมื่นคน มีรับเข้าทำงานกว่า 3.6 หมื่นคนในปี 2561 ขึ้นทะเบียนคนพิการที่จะทำงานกับนายจ้างผ่านกรมการจัดหางานเกือบ 2 พันคน บรรจุงานกว่า 1 พันคน หากไม่จ้างงานคนพิการต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 เป็นเงิน 109,500 บาทต่อคนต่อปี ในส่วนนี้มีจำนวนที่แจ้งเข้ามากว่า 1.4 หมื่นคน เมื่อพิจารณายอดรวมแล้วจะตกอยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อปี
ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพม.โดยตรง เพราะเรื่องที่ร้องเรียนเป็นในส่วนมาตรา 35 ที่ระบุว่า หากสถานประกอบการไม่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้จัดโครงการฝึกอบรมผู้พิการแทนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2556 ตามขั้นตอนการปฏิบัติจะเกี่ยวข้องกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานโดยตรง ส่วนการอนุมัติหลักสูตรฝึกอาชีพคนพิการ รวมถึงการหารายชื่อคนพิการและสถานประกอบการเพื่อยื่นมายัง พม. การขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนดังกล่าว จากนั้น พม.จะส่ง คณะกรรมการลงไปส่วนตรวจว่า โครงการที่ขออนุมัติตอบสนองตามความต้องการหรือไม่ โดยที่การบริหารการจัดการงบประมาณหลังอนุมัติไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า พม.จะไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพราะไม่เกี่ยวกับ พม.โดยตรง
พล.อ.อนันตพรกล่าวด้วยว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ พม. ทำทั้งหมดต้องตรวจสอบทั้งระบบ แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นในส่วนระบบเล็ก โดยสถานประกอบกิจการบางแห่งไม่เอื้ออำนวยแก่ผู้พิการเข้าทำงาน อีกทั้งสถานประกอบกิจการไม่อยากจ่ายเงินในส่วนของการจ้างงานคนพิการเข้ากองทุน เลยใช้ช่องว่างของมาตรา 35 ส่ง รายชื่อผู้พิการเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพคนพิการ ที่จัดหลักสูตรจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากจัดหลักสูตรอบรมแล้วผู้พิการไม่มาอบรมไม่ครบ ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ พม.จะไม่นับยอดในการอนุมัติเงิน จึง ทำให้เอกชนที่จัดการฝึกอบรมอาจฮั้วกับคนพิการว่า ไม่ต้องมาฝึกก็ได้ โดยจ่ายเงินให้แค่ครึ่งหนึ่ง ทำให้คนพิการบางคนสมยอม ส่วนนี้ล้วนเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานดูแลทั้งหมด เรื่องดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเกี่ยงงานกัน เพียงแต่ พม.ดูภาพใหญ่ แต่จุดที่เกิดปัญหาอยู่ในส่วนของภาพเล็ก อย่างไรก็ตามจะปล่อยให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบไปก่อนโดยที่พม.คอยติดตามผล
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน